รูปแบบและการจัดทำ ของ ส.ค.ส. พระราชทาน

พระมหากษัตริย์จะพระราชทานพรปีใหม่ทางสถานีวิทยุกระจายเสียงและสถานีโทรทัศน์ทุกสถานี โดยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรจะทรงปลีกเวลาจากพระราชกรณียกิจมาปรุแถบโทรพิมพ์ (เทเล็กซ์) พระราชทานพรปีใหม่แก่เจ้าหน้าที่ผู้ถวายงานโดยทรงใช้รหัสแทนพระองค์ว่า "กส. 9" เช่นเดียวกับที่ทรงใช้ติดต่อทางวิทยุสื่อสาร ดังที่ทรงระบุท้ายโทรพิมพ์ว่า "กส. 9 ปรุ" ส.ค.ส. พระราชทานที่เป็นโทรพิมพ์เหล่านี้เริ่มเผยแพร่สู่สาธารณชน เมื่อปี พ.ศ. 2530[ต้องการอ้างอิง]

เมื่อเทคโนโลยีพัฒนาขึ้น จึงทรงเริ่มต้นประดิษฐ์ ส.ค.ส. พระราชทานด้วยคอมพิวเตอร์ส่วนพระองค์เมื่อปี พ.ศ. 2531[1] โดยทรงพิมพ์ด้วยเครื่องพิมพ์ขาวดำ และโปรดให้โทรสาร (แฟกซ์) ไปยังหน่วยงานต่าง ๆ ข้อความใน ส.ค.ส. พระราชทานแต่ละปีจะประมวลขึ้นจากเหตุการณ์บ้านเมือง เพื่อสะท้อนปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆ ที่ประเทศไทยต้องประสบในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา ในภายหลัง หนังสือพิมพ์รายวันจึงนิยมนำ ส.ค.ส. พระราชทาน ลงตีพิมพ์ในฉบับเช้าวันที่ 1 มกราคม

นับแต่ทรงใช้คอมพิวเตอร์ประดิษฐ์ ส.ค.ส. พระราชทาน ทรงเปลี่ยนแปลงคำลงท้ายของ ส.ค.ส. พระราชทาน เป็น "ก.ส. 9 ปรุง" เนื่องจากทรงเปลี่ยนจากการ "ปรุ" ด้วยโทรพิมพ์ เป็นการ "ปรุง" ด้วยคอมพิวเตอร์ ถัดจากนั้น จะทรงระบุวันและเวลาที่ทรงประดิษฐ์ขึ้น เป็นรูปแบบเฉพาะ[ต้องการอ้างอิง]

หลังจากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรเสด็จสวรรคต พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ทรงพระราชทาน ส.ค.ส. เช่นเดียวกับในรัชสมัยของรัชกาลที่ 9 เพียงแต่ ส.ค.ส. จะถูกแปลงเป็นบัตรอวยพร